วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สิ่งเสพติด


สิ่งเสพติด
สิ่งเสพติด หรือที่เรียกกันว่า "ยาเสพติด" ในความหมายของ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization or WHO) จะหมายถึงสิ่งที่เสพเข้าไปแล้วจะเกิดความต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อไปโดยไม่สามารถหยุดเสพได้ และจะต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่อร่างกายและจิตใจขึ้น
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พุทธศักราช 2522 ที่ใช้ในปัจจุบันได้กำหนดความหมายสิ่งเสพติดให้โทษดังนี้ สิ่งเสพติดให้โทษ หมายถึง "สารเคมีหรือวัตถุชนิดใดๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใดๆ แล้วทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจใน ลักษณะสำคัญ เช่น ต้องเพิ่มปริมาณการเสพขึ้นเรื่อยๆ มีอาการขาดยาเมื่อไม่ได้เสพ มีความต้องการเสพทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุ่นแรงอยู่ตลอดเวลา และทำให้สุขภาพทรุดโทรมลง กับให้รวมตลอดถึงพืช หรือส่วนของพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษ และสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ไม่หมายความถึงยาสามัญประจำบ้านบางตำรับ ตามกฎหมายว่าด้วยยาที่มียาเสพติดให้โทษผสมอยู่"
ปัจจุบันนี้สิ่งเสพติดนับว่าเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ เพราะสิ่งเสพติดเป็นบ่อเกิดของปัญหาอื่นๆ หลายด้าน นับตั้งแต่ ตัวผู้เสพเองซึ่งจะเกิดความทุกข์ ลำบากทั้งกายและใจ และเมื่อหาเงินซื้อยาไม่ได้ก็อาจจะก่อให้เกิดอาชญากรรมต่างๆ สร้างความเดือดร้อนให้พ่อแม่พี่น้อง และสังคม ต้องสูญเสีย เงินทอง เสียเวลาทำมาหากิน ประเทศชาติต้องสูญเสียแรงงานและสูญเสียเงินงบประมาณในการปราบปรามและรักษาผู้ติดสิ่งเสพติด และเหตุผลที่ทำให้ สิ่งเสพติดเป็นปัญหาสำคัญของประเทศอีกข้อหนึ่งคือ ปัจจุบันมีผู้ติดสิ่งเสพติดเพิ่มมากขึ้นทั้งนี้ยังไม่รวมถึงจำนวนผู้ติดบุหรี่ สุรา ชา กาแฟ

ประเภทของยาเสพติด


ประเภทของยาเสพติด
จำแนกตามการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท แบ่งเป็น 4 ประเภท
1.   ประเภทกดประสาท ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ยานอนหลับ ยาระงับประสาท ยากล่อมประสาท เครื่องดื่มมึนเมา บาร์บิทูเรต ทุกชนิด รวมทั้ง สารระเหย เช่น ทินเนอร์ แล็กเกอร์ น้ำมันเบนซิน กาวเป็นต้น มักพบว่าผู้เสพติดมี ร่างกายซูบซีด ผอมเหลือง อ่อนเพลีย ฟุ้งซ่าน อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
2.   ประเภทกระตุ้นประสาท ได้แก่ยาบ้า ยาไอซ์ ยาอี กระท่อม โคเคน เครื่องดื่มคาเฟอีน มักพบว่าผู้เสพติด จะมีอาการ หงุดหงิด กระวนกระวาย จิตสับสน หวาดระแวง บางครั้งมีอาการคลุ้มคลั่ง หรือทำในสิ่งที่คนปกติ ไม่กล้าทำ เช่น ทำร้ายตนเอง หรือฆ่าผู้อื่น เป็นต้น
3.   ประเภทหลอนประสาท ได้แก่ แอลเอสดี เห็ดขี้ควาย ดี.เอ็ม.ที.และ ยาเค เป็นต้น ผู้เสพติดจะมีอาการประสาทหลอน ฝันเฟื่อง หูแว่ว ได้ยินเสียงประหลาดหรือเห็นภาพหลอนที่น่าเกลียดน่ากลัว ควบคุมตนเองไม่ได้ ในที่สุดมักป่วยเป็นโรคจิต
4.   ประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน คือทั้งกระตุ้นกดและหลอนประสาทร่วมกัน ผู้เสพติดมักมี อาการหวาดระแวง ความคิดสับสน เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ควบคุมตนเองไม่ได้และป่วยเป็นโรคจิตได้แก่ กัญชา

ยาบ้า


ยาบ้า
ยาบ้า เป็นยาเสพติด สารสังเคราะห์มีแอมเฟตามีนเป็นส่วนประกอบ มีชื่อเรียกต่าง ๆ เช่น ยาขยัน ยาแก้ง่วง ยาโด๊ป นิยมเสพโดยรับประทานโดยตรงหรือผสมในอาหาร หรือเครื่องดื่ม หรือเสพโดยนำยาบ้ามาบดแล้วนำไปลนไฟแล้วสูดดมเป็นไอระเหยเข้าสู่ร่างกาย จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2441
ลักษณะทางกายภาพ
ยาบ้า มีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ความหนาประมาณ 3 มิลลิเมตร น้ำหนักเม็ดยาประมาณ 80-100 มิลลิกรัม มีสีต่างๆ กัน เช่น สีส้ม สีน้ำตาล สีม่วง สีชมพู สีเทา สีเหลือง และสีเขียว เป็นต้น มีเครื่องหมายการค้า เป็นสัญลักษณ์หลายแบบ เช่น รูปหัวม้าและอักษร LONDON มีสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนเม็ดยา เช่น ฬ , ฬ99 , M , PG ,WY สัญลักษณ์รูปดาว , รูปพระจันทร์เสี้ยว ,99 หรืออาจเป็นลักษณะของเส้นแบ่งครึ่งเม็ด ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้อาจปรากฏบนเม็ดยาด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน หรืออาจเป็นเม็ดเรียบทั้งสองด้าน รูปร่างของยาบ้าอาจพบในลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ กลมแบน รูปเหลี่ยมรูปหัวใจ หรือแคปซูล
ยาบ้า คือยากลุ่มแอมเฟทตามีน(Amphetamines) ซึ่งมีหลายตัว เช่น Dextroamphetamine, Methamphetamine เรียกกันแต่เดิมว่า ยาม้า ยานี้เคยใช้เป็นยารักษาโรคอยู่บ้างในอดีต สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคผลอยหลับโดยไม่รู้ตัว (Narcolepsy) เด็กที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง ขาดความตั้งใจและสมาธิในการเรียน (Attention Deficit Disorder) และผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ปัจจุบันนิยมนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย

กัญชา


กัญชา
กัญชา เป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้าขึ้นได้ง่ายในเขตร้อน ลำต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ลักษณะใบจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 5-8 แฉก คล้ายใบมันสำปะหลัง ที่ขอบใบทุกใบจะมีรอยหยักอยู่เป็นระยะๆ ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ ตามง่ามของกิ่งและก้าน ส่วนที่คนนำมาเสพได้แก่ ส่วนของกิ่ง ก้าน ใบและยอดช่อดอกกัญชา โดยนำมาตากหรืออบแห้งแล้วบดหรือหั่นให้เป็นผงหยาบๆ จากนั้นจึงนำมายัดไส้บุหรี่สูบ (แตกต่างจากบุหรี่ทั่วไปที่ไส้บุหรี่จะมีสีเขียวต่างจากไส้ยาสูบที่มีสีน้ำตาล และขณะจุดสูบจะมีกลิ่นเหมือนหญ้าแห้งไหม้ไฟ) หรืออาจสูบด้วยกล้องหรือบ้องกัญชา บ้างก็ใช้เคี้ยว หรือผสมลงในอาหารรับประทาน ปัจจุบันรูปแบบของกัญชาที่พบนอกจากจะพบในลักษณะของกัญชาสด กัญชาแห้งอัดเป็นแท่งเป็นก้อนแล้วยังอาจพบในรูปของ "น้ำมันกัญชา" (Hashish Oil) ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ได้จากการนำกัญชามาผ่านกระบวนการสกัดหลายๆ ครั้งจึงได้เป็นน้ำมันกัญชาที่มีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทสูงถึง 20-60% หรืออาจพบในลักษณะของ "ยางกัญชา" (Hashish) เป็นยางแห้งที่ได้จากใบและยอดช่อดอกกัญชา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีฤทธิ์แรงกว่ากัญชาสด และมีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประมาณ 4-8%

สารระเหย

สารระเหย (Inhalants)

     ความหมายของสารเสพติดและสารระเหย
องค์การอนามัยโลกได้ให้ความหมายของยาเสพติด หรือยาเสพติดให้โทษ ว่าหมายถึง ยาหรือสารที่สามารถมีปฏิกิริยาต่อร่างกาย ทำให้เกิดการติดยาทางร่างกายหรือจิตใจ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาของร่างกาย เมื่อหยุดใช้ยาจะเกิดอาการเนื่องจากการหยุดยา คือหงุดหงิด ตื่นเต้น หาวนอน น้ำมูกน้ำตาไหล เหงื่อออกมาก ขนลุก ตะคริว นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศรีษะ
ในกรณีสารระเหย การติดทางจิตใจมีแน่นอน เนื่องจากผู้ที่จะเสพติดสารระเหยมักมีบุคคลิกภาพและสุขภาพจิตผิดปกติอยู่ก่อนแล้ว ต้องการใช้สารระเหยเพื่อหลีกเลี่ยงอารมณ์ซึมเศร้า กังวล ฯลฯ องค์การอนามัยโลกได้จัดตัวทำละลายที่ระเหยง่าย เช่น ethyl acetate ซึ่งพบในลูกโป่งวิทยาศาสตร์ และสารบางตัวเช่น thinners ซึ่งพบในกาวต่างๆ เป็นสารระเหยเป็นต้น เนื่องจากสารดังกล่าวเป็นปัญหาต่อการเสพติด
     สารระเหย (Volatile Substances)
สารระเหยหมายถึง สารประกอบอินทรีย์เคมีประเภท ไฮโดรคาร์บอน์ที่ได้มาจากน้ำมันปิโตรเลี่ยมและก๊าซธรรมชาติ เป็นสารที่ระเหยได้ง่ายในอุณหภูมปกติ สารเหล่านี้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ที่พบเห็นได้บ่อยๆ เช่น ทินเนอร์ แลคเกอร์


     สารระเหยเมื่อแบ่งตามคุณสมบัติทางกายภาพ แบ่งออกเป็น 3 พวกใหญ่ๆ คือ
1. สารระเหย (Volatile Substance) เป็นสารประกอบอินทรีย์เคมีที่ได้มาจากน้ำมันปิโตรเลี่ยมและก๊าซธรรมชาติ เป็นสารที่ระเหยได้ง่ายในอุณหภูมิห้อง จึงนิยมใช้กันมากในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในทางอุตสาหกรรมที่มีคุณสมบัติแห้งระเหยได้เร็ว
2. ตัวทำละลาย (Solvents) เป็นสารที่เป็นของเหลวใช้เป็นส่วนผสมทั้งในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในทางอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน เช่น เฮกเซน มีอยู่ในพลาสติก ซิเมนต์ โทลูอีน ไซลีน มีอยู่ในกาวติดเครื่องบินเด็กเล่น แลกเกอร์ ทินเนอร์ อะซิโตน ในรูปน้ำยาล้างเล็บ เบนซิน ในน้ำยาทำความสะอาด
3. ละอองลอย (Aerosol) ซึ่งจัดบรรจุในภาชนะที่ใช้สำหรับฉีด มีส่วนผสมของไฮโดร-คาร์บอน หรือ ฮาโลคาร์บอน พบมากในรูปของสเปรย์ฉีดผม สีกระป๋องสำหรับพ่น

ยากล่อมประสาท

ยากล่อมประสาท
  ลักษณะ
 - มีประโยชน์ทางการแพทย์ โดยแพทย์จะจ่ายให้เพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เมื่อมีอาการดีขั้น จะให้หยุด ถ้าใช้ยาติดต่อกันนานๆ จะทำให้เกิดการติดยา มีทั้งรูปแบบเม็ด แคปซูล และน้ำมีมากกว่า 50 ชนิด 
    

 การเสพ

 - ใช้รับประทาน
    

 การออกฤทธิ์
                                                                                                                           มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางทำให้คลายความกังวล สงบ หมดความรู้สึก หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้มีอาการงุนงงหงุดหงิด คลุ้มคลั่ง อารมณ์แปรปรวน    

โทษ

- หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ความดันเลือดสูง มีไข้ นอนไม่หลับ วิตกกังวล คลื่นไส้ อาเจียน ชัก เพ้อ สับสน เห็นภาพหลอน เกิดอาการซึมเศร้าจนถึงกับทำร้ายตัวเองได

ยาอี


ยาอี
ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี (Ecstasy) เป็นยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน จะแตกต่างกันบ้างในด้านโครงสร้างทางเคมี เท่าที่พบส่วนใหญ่จะมีองค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญ คือ 3, 4- Methylenedioxymethamphetamine (MDME), 3, 4- Methylenedioxyamphetamine (MDA) และ 3, 4- Methylenedioxyethylamphetamine (MDE หรือ MDEA) ลักษณะของยาอี มีทั้งที่เป็นแคปซูลและเป็นเม็ดยาสีต่าง ๆ แต่ที่พบในประเทศไทย ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเม็ดกลมแบน เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8-1.2 ซม. หนา 0.3-0.4 ซม. ผิวเรียบ และปรากฏสัญลักษณ์บนเม็ดยาเป็นรูปต่าง ๆ เช่น กระต่าย, ค้างคาว, นก, ดวงอาทิตย์, PT ฯลฯ เสพโดยการรับประทานเป็นเม็ด จะออกฤทธิ์ภายในเวลา 45 นาที และฤทธิ์ยาจะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 6-8 ซม.
ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี เป็นยาที่แพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบเที่ยวกลางคืน ออกฤทธิ์ใน 2 ลักษณะ คือ ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทในระยะสั้น ๆ หลังจากนั้นจะออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง ฤทธิ์ของยาจะทำให้ผู้เสพรู้สึกร้อน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การได้ยินเสียง และการมองเห็นแสงสีต่าง ๆ ผิดไปจากความเป็นจริง เคลิบเคลิ้ม ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ อันเป็นสาเหตุที่จะนำไปสู่พฤติกรรมเสื่อมเสียต่าง ๆ และจากการค้นคว้าวิจัยของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์หลายท่าน พบว่า ยาชนิดนี้มีอันตรายร้ายแรง แม้จะเสพเพียง 1-2 ครั้ง ก็สามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้ผู้เสพมีโอกาสติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย และยังทำลายเซลส์สมองส่วนที่ทำหน้าที่ส่งสารซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอารมณ์ให้มีความสุข ซึ่งผลจากการทำลายดังกล่าว จะทำให้ผู้เสพเข้าสู่สภาวะของอารมณ์ที่เศร้าหมองหดหู่อย่างมาก และมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ
ฤทธิ์ในทางเสพติด :
ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทในระยะสั้น ๆ จากนั้นจะออกฤทธิ์หลอนประสาท มีอาการติดยาทางจิตใจ ไม่มีอาการขาดยาทางร่างกาย
อาการผู้เสพ :
เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ระบบประสาทการรับรู้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด (Psychedelic) ทำให้การได้ยินเสียงและการมองเห็นแสงสีต่าง ๆ ผิดไปจากความเป็นจริง เคลิบเคลิ้ม ควบคุมอารมณ์ไม่ได้